" ธรรมชาติน่ายล ภูมิพลเขื่อนใหญ่ พระเจ้าตากเกรียงไกร เมืองไม้และป่างาม " |
|
เมืองตาก ในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ อำเภอบ้านตาก เมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว เมืองตากมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดให้ย้ายตัวเมืองตาก จากฝั่งขวาของแม่น้ำปิง มายังฝั่งซ้าย บริเวณตำบลล้านระแหง จนกระทั่งทุกวันนี้ |
|
เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ของภาคเหนือ รองจากเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นป่าเขาอันเป็นที่อยู่ ของชาวเขาเผ่าต่างๆ มีแม่น้ำปิงไหลผ่านตัวจังหวัด และมีแม่น้ำเมย เป็นเส้นกั้นเขตแดนไทย กับพม่า ที่อำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นศูนย์กลาง การค้าขาย ชายแดนระหว่างไทยกับพม่า |
|
ตาก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 426 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 10,254,156 ไร่ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็น ภูเขา และป่าไม้ เป็นจังหวัดที่มีอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ที่ยังคงความสมบูรณ์ของป่า และธรรมชาติ อาทิ อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช อุทยานแห่งชาติแม่เมย อุทยานแห่งชาติลานสาง และอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ตลอดจนมีน้ำตกที่ นักท่องเที่ยวรักการผจญภัย และนิยมการล่องแก่ง ต้องมาเยือนสักครั้ง คือ น้ำตกทีลอซู และน้ำตกทีลอเร นอกจากความสวยงามตามธรรมชาติแล้ว ยังเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อทั้งดอกไม้ และผลไม้ โดยเฉพาะทับทิม ซึ่งเป็นพันธุ์ ที่มีผลใหญ่ และกำลังได้รับความนิยมมาก |
|
. ตาก เป็นหนึ่งในหัวเมืองที่มีอายุ เกินกว่า 2,000 ปี และเคยเป็นชุมชนโบราณ ที่มีการเพาะปลูก และ ล่าสัตว์ มีการปั้น เครื่องปั้นดินเผา และ หล่อโลหะ ประเภท สำริด จากหลักฐานการค้นพบซากโบราณวัตถุหลายชิ้น ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไม้สอย ในยุคโลหะตอนปลาย ก่อนประวัติศาสตร์ คือ ประมาณ 2,500 - 1,500 ปีมาแล้ว |
|
เดิมที ชุมชน ตาก ในอดีต คงเป็นเมืองที่ชาวมอญ สร้างขึ้น และเป็นราชธานีของแคว้นแถบตอนเหนือ ที่มีกษัตริย์ปกครอง ต่อเนื่องกันมาหลายพระองค์ ในรัชสมัย พระเจ้าสักดำ ราวปี พ.ศ.560 เมืองตาก เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ มีอาณาเขตแผ่ไปไกล จนจดทะเลอันดามัน และมีการติดต่อค้าขาย กับเมือง อินเดีย ด้วย ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 10 พระยากาฬวรรณดิส อพยพโยกย้ายผู้คน ไปสร้างราชธานีใหม่ ขึ้นที่ เมืองละโว้ ทางตอนใต้ของ เมืองตาก ทิ้งให้ ตาก กลายเป็นเมืองร้าง อยู่หลายร้อยปี |
|
จนราวปี พ.ศ.1310 - 1311 พระนางจามเทวีวงศ์ พระราชธิดา ในกษัตริย์ เมืองละโว้ เสด็จตามลุ่มน้ำปิง ผ่าน เมืองตาก เพื่อไปปกครอง แคว้น หริภุญไชย หรือ ลำพูน ในปัจจุบัน ทรงพบร่องรอยกำแพงเก่า ตามริมฝั่งแม่น้ำ จึงโปรดฯ ให้สร้างเมืองแห่งนี้ขึ้นเป็นบ้านเมืองใหม่ เรียกกันว่า "บ้านตาก" ด้วยมีเรื่องเล่าว่า เป็นสถานที่ ที่พี่เลี้ยงของพระนาง ตากผ้า และสิ่งของที่เปียกชุ่ม ขณะเดินทางมาตามลำน้ำ |
|
หลังจาก พ่อขุนรามคำแหง ชนช้างชนะ ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ในปี พ.ศ.1781 แล้ว พระองค์ได้ยกทัพผ่านลงมาทาง แหลมมลายู ปราบเมืองใหญ่น้อย ที่เคยเป็นอาณาจักร ทวารวดี และ ศรีวิชัย รวมเข้าเป็น อาณาจักร สุโขทัย เป็นผลให้มีการเปิดเส้นทางค้าขาย ทางบก ไปยังเมือง เมาะตะมะ ของ มอญ ซึ่งเป็นเมืองท่า ผ่านสินค้าต่อไปยัง อินเดีย เปอร์เซีย และ อาระเบีย โดยพ่อค้าไทย มักนำเครื่อง สังคโลก จาก สุโขทัย ผ่านแม่สอด ไปยัง เมาะตะมะ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศต่างๆ โดยทางเรือ ขณะเดียวกัน ก็นำสินค้าจากเมือง เมาะตะมะ และประเทศ ทางตะวันตก กลับมาขายด้วย |
|
สมัย อยุธยา บ้านตาก เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ สำหรับป้องกันกองทัพ พม่า ที่ยกทัพเข้ามาทางด่าน แม่ละเมา มีแม่ทัพ นายกอง และไพร่พล จาก กรุงศรีอยุธยา มาประจำการ และยังเป็นที่ชุมนุมไพร่พล ทหารกล้า สำหรับการเดินทัพครั้งสำคัญ เพื่อเข้าตีเมือง เชียงใหม่ อีกหลายครั้ง ในสมัย สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ช่วงที่ กรุงศรีอยุธยา เป็นประเทศราช ขึ้นกับ พม่า สมัย พระเจ้าหงสาวดี ได้ย้ายเมือง จาก บ้านตาก ลงมาทางใต้ ประมาณ 25 กม. เรียกว่า "เมืองตากระแหง" ตั้งอยู่ ริมแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันตก ด้วยเหตุที่การ คมนาคมติดต่อ ระหว่างเมืองนี้ กับเมือง มอญ ใกล้กว่าที่เก่า |
|
ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 เมือง ตากระแหง ถูก พม่า ตีแตก ผู้คนหนีไป บ้านเมืองร้าง จนถึงสมัย ต้นรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละ ได้รวบรวมชาว เมืองตาก เดิม ที่ บ้านตาก และ เมืองตากระแหง มาตั้งเมืองใหม่ โดยย้ายเมือง มาอยู่ฝั่งตะวันออก ของ แม่น้ำปิง เพื่อให้ ลำน้ำ เป็นปราการธรรมชาติ ที่ช่วยกั้นทัพ พม่า เมื่อ พม่า เป็นเมืองขึ้นของ อังกฤษ บ้านเมืองสงบ ปลอดศึกสงคราม ตาก เริ่มมีการค้าขาย กับ พม่า และเมืองทาง ภาคเหนือ โดยอาศัยลำน้ำปิง เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ ชุมชนจึงขยายตัว ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด ตาก ก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้า ทางเรือ ระหว่าง เชียงใหม่ นครสวรรค์ และ กรุงเทพฯ |