" ชุมพรประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก " |
|
ชุมพร มีชื่อปรากฏมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1098 โดยมีฐานะเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง และเป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ตอนบนของภาคใต้ ในพุทธศักราช 1997 รัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงว่าเมืองชุมพร เป็นเมืองตรี อาณาจักรฝ่ายใต้ของกรุงศรีอยุธยา |
|
ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมณฑลชุมพร ต่อมามีการยุบการปกครองระบอบมณฑลเป็นจังหวัด ชุมพรจึงมีฐานะเป็นจังหวัด |
|
คำว่า ชุมพร มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า ชุมนุมพล เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่าน การเดินทัพไม่ว่าจะมาจากฝ่ายเหนือหรือว่าฝ่ายใต้ ล้วนเข้ามาตั้งค่ายชุมนุมพลกันที่นี่ จึงเรียกจุดนี้ว่า ชุมนุมพล ต่อมาเพี้ยนเป็น ชุมพร อีกประการหนึ่งในการเดินทางไปทำศึกสงครามของแม่ทัพนายกองตั้งแต่สมัยโบราณมา เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีส่งทัพโดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ได้รับชัยชนะในการสู้รบเป็นการบำรุงขวัญทหาร ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้ ตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร ซึ่งทั้งสองคำนี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า ชุมนุมพร เช่นเดียวกัน |
|
แต่อีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้มาจากชื่อพันธุ์ไม้ธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ต้นมะเดื่อชุมพร เพราะที่ตั้งของเมืองชุมพรนั้นอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าตะเภา มีต้นมะเดื่อชุมพรขึ้นอยู่มากมาย ต้นมะเดื่อชุมพรจึงเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของตราประจำจังหวัดชุมพร |
|
ภูมิประเทศโดยทั่วไป มีลักษณะเป็นแนวยาว และแคบไปตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 222 กิโลเมตร ความกว้างของจังหวัดโดยเฉลี่ยประมาณ 36 กิโลเมตร พื้นที่ประกอบด้วยภูเขาสูงสลับพื้นที่ราบ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดเป็นเทือกเขาตะนาวศรี และเทือกเขาภูเก็ต ซึ่งเป็นเขตชายแดนไทย-พม่า การที่จังหวัดชุมพรถูกขนาบด้วยภูเขาและทะเล อีกทั้งยังได้รับมรสุมทั้งทางฝั่งทะเลด้านตะวันออก และด้านตะวันตก ทำให้มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม |
|
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ ป่าไม้ ดีบุก และปะการัง แม่น้ำที่สำคัญๆ ของจังหวัด ได้แก่ แม่น้ำท่าตะเภาและแม่น้ำหลังสวน นอกจากนั้นยังประกอบไปด้วยลำคลองสายสั้นๆ ไหลจากเทือกเขาทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดไหลลงสู่อ่าวไทยบริเวณปากน้ำชุมพร |